
แนวทางการแก้ไขเมื่อลูกติดเกม
มีคุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนมาปรึกษาหมอว่า “คุณหมอคะ ลูกชายดิฉัน วันๆ ไม่ทำอะไร เล่นเกมทั้งวันทั้งคืน นอนก็ไม่นอน ข้าวก็กินไม่ตรงเวลา ไม่ยอมออกจากห้องเลย ตอนนี้โดนพักการเรียนแล้วค่ะ พอดิฉันเตือนก็หงุดหงิด ขว้างปาข้าวของใส่ ดิฉันด่ามันจนไม่รู้จะด่าว่าอะไรแล้ว เคยเดินไปถอดปลั๊กคอมตอนมันเล่นเกมเลยนะคะ มันขู่ดิฉันว่าจะเผาบ้าน ไม่ให้ดิฉันเข้าห้องอีก ไม่รู้จะทำยังไงแล้วค่ะ ดิฉันกลุ้มใจมาก” เมื่อลูกติดเกมแล้ว เราจะมีแนวทางการแก้ไขเบื้องต้นอย่างไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
แนวทางการแก้ไขเมื่อลูกติดเกม
- พ่อแม่ต้องตั้งสติก่อน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกติดเกมแน่ๆ ไม่ใช่แค่เล่นเกม และเมื่อแน่ใจว่าลูกติดเกม ก่อนอื่นต้องทำใจ ค่อยๆ คิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป จากนั้นก็เตรียมแรงกาย แรงใจ และเวลาให้พร้อมเพื่อแก้ปัญหานี้ ก่อนที่จะเกิดปัญหาอื่น ที่ทำให้เราปวดหัวกว่านี้ตามมา
- ตรวจสอบว่าเรามีเครื่องมือที่จะใช้ช่วยลูกจากการ “ติด” เกม แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มี เราต้องเตรียมเครื่องมือให้พร้อมซะก่อน เพราะถ้าเครื่องมือยังไม่พร้อม โอกาสที่จะแก้ไขปัญหาสำเร็จก็ทำได้ยาก
เครื่องมือที่ใช้มีดังนี้
– สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว โดยเฉพาะสัมพันธภาพกับลูก สัมพันธภาพที่ดี สร้างโดย มีความเข้าใจพัฒนาการและความต้องการทางจิตใจของเด็กแต่ละวัย รับฟังลูกโดยหลีกเลี่ยงการตัดสินถูกผิดจากการใช้ประสบการณ์ของตนเอง หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์และความรุนแรงในการแก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนการสื่อสารในครอบครัวให้เข้าใจง่ายและสร้างสรรค์ แบ่งเวลาทำกิจกรรมที่สร้างความสุขกับครอบครัว สัมพันธภาพที่ดีจะช่วยให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เป็นฝ่ายเดียวกับเขา ยอมรับ และเข้าใจเขาจริงๆ
– รู้และเข้าใจสิ่งที่ลูกรู้สึกว่า “ได้”จากเกม ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน ความสนุก การยอมรับ ความสำเร็จ การเป็นตัวเอง หรือแม้แต่การได้เป็นคนที่แตกต่างจากตัวเองในโลกความเป็นจริง พ่อแม่ที่รู้ว่าเด็กได้อะไรจากเกม จะรู้ว่าเด็กเล่นเกมเพราะอะไร และ จะสามารถหากิจกรรมอย่างอื่นที่ทำให้เด็กได้รับในสิ่งเดียวกันมาทดแทนได้
- สร้างความตระหนักเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เมื่อพ่อแม่คิดว่ามีเครื่องมือพร้อมและมากพอ อาจเริ่มพูดคุยถึงเริ่มเกมมากขึ้น การพูดคุยถึงปัญหาควรอยู่กับปัจจุบันไม่นำเรื่องอื่นมาโยง ไม่ตีตราเหมารวมว่าเป็นนิสัย เน้นที่ผลกระทบของเกมต่อชีวิต และ ความสุขในชีวิต มากกว่าการหยุดเล่นเกม โดยพ่อแม่มีหน้าที่กระตุ้นให้ลูกแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของเกมต่อตนเอง และสร้างแรงจูงใจแก่ลูก ขั้นตอนนี้มักไม่สำเร็จในครั้งเดียว อาจต้องทำหลายครั้ง ที่สำคัญต้องทบทวนอยู่เสมอ ว่าเครื่องมือของเรา ครบและพร้อมแล้วจริงหรือไม่ หลักการสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงที่ลูกเป็นคนตัดสินใจเอง จะได้ผลดีและยั่งยืนกว่า การเปลี่ยนแปลงที่ถูกบังคับ
- การตั้งเป้าหมายร่วมกันกับลูก เมื่อลูกเริ่มเห็นว่าการเล่นเกมจน “ติด” ก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์สำหรับเขา เมื่อนั้นจึงเป็นเวลาแห่งการตัดสินใจว่าจะลด ละ เลิก เกม ซึ่งการตั้งเป้าหมายควร จะเจาะจง วัดผลได้ สามารถทำให้บรรลุได้ไม่ยากเกินไป ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง และมีระยะเวลากำหนดชัดเจน
- ดำเนินการตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ประเมินผล และอุปสรรค ชื่นชมในความพยายาม แล้วปรับแผนร่วมกัน
- งดการเล่นเกมไปก่อนในช่วงนั้นก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสม ในกรณีที่อนุญาตให้ลูกเล่นเกมแล้วพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามข้อตกลงได้ หรือการอนุญาตให้เล่นเกมเฉพาะช่วงวันหยุด ช่วงปิดเทอม หรือให้เป็นรางวัลหลังจากทำงานตามหน้าที่ของตนเองเสร็จสิ้นแล้วโดยสะสมเป็นแต้มมาแลกกับการเล่นเกม ก็เป็นวิธีที่มีการใช้กัน
- ผู้ปกครองควรมั่นคงกับสิ่งที่ทำอยู่ โดยใช้หลักการ kind but firmในกรณีที่ลูกมีปฏิกิริยาที่รุนแรง เช่น ก้าวร้าว ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น เวลาไม่สามารถควบคุมความต้องการของตัวเองได้ เช่น แสดงความเข้าใจว่าเด็กกำลังไม่พอใจ โกรธ หรือเสียใจ ที่ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ แต่ถ้าตกลงกันแล้วว่าไม่ได้ก็คือไม่ได้ เป็นต้น ในกรณีแบบนี้ถ้าพ่อแม่ไม่สามารถดูแลได้จริงๆ อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานควบคุมในระยะสั้นก่อน
- พยายามเข้าถึงโลกของลูกให้มากที่สุด คือ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ถ้าหากลูกมีพฤติกรรมติดเกมขั้นรุนแรง และคุณพ่อคุณแม่ทำทุกวิถีทางแล้ว ทั้งตั้งกฎระเบียบกติกา ให้เวลากับลูก หากิจกรรมต่างๆให้ทำ เพื่อที่จะดึงเค้าออกมาจากหน้าจอ แต่ลูกก็ยังต่อต้าน ไม่ยอมร่วมมือ ไม่อยากจะปรับเปลี่ยนตนเอง แถมยังแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หรือเก็บตัวจนน่าเป็นห่วง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะพยายามเข้าถึงโลกของลูกให้มากที่สุด เข้าไปทำความรู้จักเกมที่ลูกชอบเล่น หาข้อมูลเนื้อหาของเกม เพื่อจะได้พูดคุยด้วยภาษา (เกม) เดียวกันกับลูก แสดงความสนใจในสิ่งที่ลูกกำลังเล่นโดยไม่ตำหนิ หากเห็นว่าเป็นเกมที่ไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง ใช้วิธีเบี่ยงเบนให้เด็กหันมาสนใจเกมอื่นที่มีส่วนดี แล้วดึงเอาส่วนดีของเกมมาสอนลูก เช่น เกมสร้างเมือง เกมวางแผนต่างๆ เกมที่มีบทบาทสมมุติเพื่อฝึกทักษะทางสังคม เป็นต้น เมื่อสัมพันธภาพเริ่มดีขึ้น พ่อแม่จึงค่อย ๆ ดึงให้เด็กหันมาสนใจในกิจกรรมอื่นทีละน้อย
- พาลูกมาพบจิตแพทย์ ถ้าหากทำวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล เนื่องจากเด็กอาจมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ลึกๆ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น ฯลฯ เพื่อรับการวินิจฉัยและบำบัดรักษาต่อไป
การเปลี่ยนแปลงยังไงก็ต้องใช้เวลา พ่อแม่ต้องใช้ความอดทนและความใจเย็นมากเอาการ เพราะฉะนั้นพ่อแม่อย่าลืมที่จะหาวิธีเติมพลังใจให้ตัวเองด้วยนะคะ